หน้าเว็บ

วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2553

พฤติกรรมเด็กติดเกมส์ออนไลน์

          ปัจจุบันเกมส์หลากหลายเกมส์ ต่างล้นทะลักเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากมาย โดยเฉพาะเกมส์แนวขัดแย้งกับบรรทัดฐานของสังคม อย่างเช่นเกมส์เกี่ยวกับการขโมย (เกมส์ GTA ถือเป็นเกมส์เกี่ยวกับการขโมยเกมส์หนึ่ง) เกมส์เกี่ยวกับเรื่องทางเพศ เกมส์สร้างความแตกแยกและสร้างความรุนแรง เป็นต้น และด้วยเพราะประเทศไทยมองข้ามอุตสาหกรรมเกมส์ จึงขาดกระบวนการดูแลอย่างเหมาะสม ทำให้รูปแบบเกมส์ที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ถูกนำเสนอเข้ามาและซื้อขายได้อย่างเกลื่อนกลาดตามร้านขายเกมส์ทั่วไป ไม่ว่าใครที่ไหน จะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็สามารถหาซื้อมาไว้เป็นของตัวเองได้ไม่ยาก
         ปัจจุบันมาตรการเกี่ยวกับเกมส์นั้น ออกมาเพียงเพื่อเยียวยาปัญหามากกว่าที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ส่วนใหญ่จะมุ่งให้ความสนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเกมส์ แต่ไม่ได้มองถึงแหล่งที่มา การนำเข้า และการควบคุม ซึ่งก็ถึงเวลาสักทีที่จะต้องมีมาตรการอย่างจริงจัง สำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ เพื่อไม่ให้เกิดประวัติซ้ำรอยอีกเป็นครั้งที่สอง

          อย่างไรก็ดี จากข่าวที่เกิดขึ้นจะกล่าวโทษสื่อเกมส์คอมพิวเตอร์ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้น อาจดูจะเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยถูกนัก เพราะจากอายุของเยาวชนในวัย 19 ปี น่าจะเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะในการกระทำเรื่องต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม เกือบจะเทียบเท่ากับผู้ใหญ่ จากข่าวเยาวชนผู้ก่อคดี ก็ดูมีความสามารถในการเรียน เพราะเรียนในสายวิทย์ – คณิต มีอุปนิสัยเรียบร้อย ซึ่งยากที่จะเห็นว่าเด็กคนนี้กำลังมีปัญหาจนต้องก่อคดีดังกล่าว เคยมีข่าวคราวแนวเดียวกันนี้ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเด็กที่เรียนดี แต่ชอบไปขโมยของในห้างสรรพสินค้า หรือร้านค้าต่างๆ นับว่าเป็นลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับข่าวนี้ เพราะโดยส่วนใหญ่เด็กที่ก่อคดี ถ้าไม่ใช่เด็กที่ติดยาหรือมีปัญหากับสังคม ก็มักจะเป็นเด็กที่เรียนดี มีความสามารถ แต่ต้องประสบกับภาวะความเครียดรุมเร้า หรือเป็นเด็กที่เก็บกด ขาดความรักความอบอุ่น ความอยากได้อยากมี และพ่อแม่ก็ไม่เคยรับรู้ว่าลูกหลานของตนมีปัญหาส่วนตัว ประจวบกับแนวทางการให้คำปรึกษากับนักเรียนในโรงเรียน ก็ไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากองค์กร เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ ทำให้เด็กจำเป็นที่จะต้องกระทำบางสิ่งบางอย่างไปเพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดของตน จากแรงกดดันภายนอก ความคาดหวังของผู้ปกครอง และความมุ่งหวังของตนเอง ซึ่งส่วนใหญ่บทสรุปก็จบลงได้ไม่ดีนัก นี่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งคงเห็นได้ว่า เหตุอันเป็นจุดร่วมระหว่างเด็กที่ชอบขโมย เด็กติดยา เด็กฆ่าคนตาย และฆาตกรเด็ก ที่เกิดจากเด็กที่เรียนดีและมีความสามารถนั้นก็คือ ภาวะความเครียด ที่เกิดจากการไม่สามารถปรับตัวได้นั้นเอง
“ผมยืนยันว่าไม่ได้ติดยาเสพติดหรือติดการพนัน แต่สาเหตุที่ตัดสินใจทำ เพราะเห็นในเกมส์แล้วอยากลองทำดูบ้าง คิดว่ามันง่าย ทุกวันนี้ที่บ้านให้มาใช้วันละ 100 กว่าบาท แต่ก็ไม่พอ แต่ไม่ได้บอกให้ทางบ้านรู้ ประกอบกับรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภาพครอบครัว ที่พ่อชอบดื่มสุราจนเมามาย และมาตบตีทำร้ายแม่ ”
(อ้างอิงจาก ผู้จัดการออนไลน์)
          นี่คือคำกล่าวส่วนหนึ่งของเยาวชนผู้ก่อคดีสะเทือนขวัญในครั้งนี้ จะเห็นได้ว่าสภาพครอบครัวที่ไม่อบอุ่น อาจเป็นตัวกระตุ้นเด็กให้ก่อคดี เช่นเดียวกับความต้องเงินเพื่อไปเล่นเกมส์ อันเป็นการช่วยบำบัดอารมณ์ที่ขุ่นมัวของเขาได้ตามที่เขาคิดไว้

         เรื่องนี้อาจเป็นปัญหาในระดับของการปรับตัว ถ้าเรื่องทุกอย่างเกิดขึ้นเพราะสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น หรืออาจจะมีปัญหาที่หนักกว่า อย่างปัญหาทางจิต ซึ่งการที่เด็กไม่สามารถแยกแยะระหว่างเรื่องที่ทำได้เฉพาะในเกมส์กับเรื่องที่ทำได้ในโลกของความจริง นับว่าเป็นปัญหาทางจิตที่ควรได้รับการช่วยเหลือและแก้ไขอย่างเร่งด่วน ในที่นี้ต้องดูกันต่อไป เพราะถึงอย่างไรเด็กผู้ก่อคดีจำเป็นต้องเข้ารับการตรวจเช็คความผิดปกติทางจิตก่อนจะเข้ารับโทษจากการกระทำความผิด ซึ่งเป็นที่น่าเศร้า เพราะอายุในวัย 19 ปีนั้น เป็นวัยที่ต้องรับโทษตามกฎหมายแบบเดียวกับผู้ใหญ่ ถือเป็นเรื่องที่หนักหนาสำหรับเยาวชนในวัยที่เริ่มเป็นผู้ใหญ่เช่นนี้

          อย่างไรก็ดี แม้ว่าในเรื่องนี้เกมส์จะดูเป็นเหมือนแพะรับบาปของสังคม แต่สำหรับเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะในวัยชั้นประถมและมัธยม เกมส์หรือแม้แต่สื่อที่นำเสนอต่าง ๆ ภายในคอมพิวเตอร์ ซึ่งรวมหมายถึงเครื่องเล่นเกมส์หลากชนิด และโทรทัศน์ ต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่อาจสร้างปัญหาทางพฤติกรรมให้กับเด็กได้ เพราะการใช้คอมพิวเตอร์ การดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมส์ทีละหลาย ๆ ชั่วโมง ก็อาจทำให้เด็กซึมซับการแสดงออกที่ปรากฎอยู่ภายใน และอาจก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบได้ เมื่อตัวเกมส์หรือสื่อนั้น ๆ กลายเป็นแบบอย่างที่มีอิทธิพลสำหรับเด็ก ๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น